ขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีด้วยหรือ!? แล้วต้องคำนวณอย่างไร?
ยุคนี้เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอย่างมากในทุก ๆ เรื่องเลยล่ะครับ ไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องอาชีพ ซึ่งทำให้ผู้คนมีตัวเลือกในการประกอบอาชีพมากขึ้น และหนึ่งในอาชีพที่ได้รับความนิยมและสามารถสร้างให้คนเป็นเศรษฐีมาแล้วนักต่อนักก็คงหนีไม่พ้น การขายของออนไลน์ครับ ใช่ครับ มันเป็นอาชีพที่ใครก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ทำเป็นอาชีพเสริมก็ได้ ไม่ต้องใช้เงินทุนสูง แถมยังเข้าถึงลูกค้าได้สะดวกรวดเร็วกว่าการขายแบบออฟไลน์เป็นไหน ๆ ว่าง ๆ ก็นั่งลงขายสินค้าใน marketpkace ต่าง ๆ ที่มาช่วยอำนวยความสะดวกให้คุณพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์กันแบบฟรี ๆ เผลอแป๊ปเดียวมีเงินแสนเงินล้านกับแบบไม่รู้ตัวเลยล่ะครับ แต่ก็นั่นแหละครับเมื่อมีเม็ดเงินไหลเวียนในวงการขายของออนไลน์มหาศาล ทำให้ทางภาครัฐต้องเข้ามาควบคุมดูแล และเกิดภาษีออนไลน์ขึ้น ซึ่งหลายคนอาจจะลืมหรือไม่เห็นความสำคัญว่าขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีด้วย วันนี้ผมจึงอยากจะมาแบ่งปันเรื่องนี้ให้ทราบครับว่า การขายของออนไลน์ต้องเสียภาษีแบบไหน มีวิธีการคำนวณอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยครับ
ทำไมขายของออนไลน์จะต้องเสียภาษีด้วย ?
ก่อนอื่นผมขอตอบคำถามที่หลาย ๆ คนอาจจะสงสัย “ทำไมขายของออนไลน์จะต้องเสียภาษีด้วย ?” ทำความเข้าใจกันนิดนึงนะครับว่า ในเมื่อเรามีรายได้จากการขายของ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในรูปแบบออนไลน์ก็ตาม เพื่อความแฟร์ต่อพ่อค้าแม้ค้าแบบออฟไลน์ จึงต้องเสียภาษีเหมือนกันครับ ซึ่งการขายของออนไลน์ก็ถูกจัดใน เงินได้ประเภทที่ 8 คือ เงินได้จากการค้าขาย นั่นเองครับ
ภาษีหลัก ๆ สำหรับคนขายของออนไลน์
หลัก ๆ เลยก็มีอยู่ 3 ประเภทครับ คือ
1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา : ในกรณีที่เป็นบุคคลธรรมดาที่ขายของออนไลน์ ก็จะต้องเสียภาษีก็จะอิงตามอัตราฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่นเดียวกับมนุษย์เงินเดือนทั่วไปนั่นเองครับ
2.ภาษีเงินได้แบบนิติบุคคล : ในกรณีนี้สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนเป็นบริษัทห้างหุ้นส่วน
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) : ดูที่รายได้ของเรา ถ้าเรามีรายได้ (ก่อนหักค่าใช้จ่าย) มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ก็จะมีการเสีย VAT ที่ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 7% นั่นเองครับ
การคำนวณภาษี
โดยส่วนมากพ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์มักไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ ดังนั้นใน blog นี้ผมจะพูดถึงเฉพาะการคำนวณภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดาแล้วกันนะครับ
ซึ่งวิธีการคำนวณภาษีสำหรับการขายของออนไลน์นั้น มีวิธีคิด 3 แบบ นั่นก็คือ
1. หักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% สำหรับร้านค้าออนไลน์ที่ซื้อมา ขายไป ไม่ได้ผลิตเอง
2. หักค่าใช้จ่ายตามจริง สำหรับร้านค้าที่ผลิตสินค้าเอง โดยนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง จากการขายของออนไลน์มาหักออก วิธีนี้จำเป็นต้องมีใบเสร็จ เอกสารแสดงรายได้ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน
3. หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา คือ คิดภาษี 0.5% หากคุณมีรายได้จากการขายของออนไลน์มากกว่า 1,000,000 บาทต่อปี
พ่อค้าแม้ค่าออนไลน์ส่วนใหญ่ ไม่อยากที่จะยุ่งยากกับการทำหรือเก็บเอกสารนั่นนี่ วิธีการคำนวณภาษีแบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง จึงไม่ค่อยมีคนใช้นัก จึงเหลือวิธีคิดด้วยกัน 2 แบบ วิธีที่1 (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) * อัตราภาษี และ วิธีที่2 เงินได้ * 0.5%
วิธีที่ 1 การคำนวณภาษีโดยหักค่าใช้จ่ายตามอัตรา 60% จะเป็นการหักต้นทุนในสัดส่วน 60% ของรายได้ หรือก็คือการนำ 40% ของรายได้ทั้งหมดไปคิดภาษี (เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน) * อัตราภาษี)
เช่น นางสาว J มีรายได้จากการขายของออนไลน์ 1,000,000 บาท
คิดภาษีด้วยการหักค่าใช้จ่ายตามอัตราคือ 60% เท่ากับค่าใช้จ่าย 600,000 บาท
มีค่าลดหย่อนจากการบริจาค 15,000 บาท
จะเท่ากับ (1,000,000 - 600,000 - 15,000) รายได้สุทธิ = 385,000 บาท
จากนั้นนำรายได้สุทธิไปเทียบกับตารางภาษี
เงินบาทที่ 150,001 - 300,000 = เสียภาษี 5% = 7,500 บาท
เงินบาทที่ 300,001 - 385,000 = เสียภาษี 10% = 8,500 บาท
นางสาว J ต้องเสียภาษี เท่ากับ 7,500 + 8,500 = 16,000 บาทต่อปีนั่นเองครับ
วิธีที่2 หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา (เงินได้ * 0.5%) ในกรณีที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์มากกว่า 1,000,000 บาทต่อปี
เช่น นาย P มีรายได้จากการขายของออนไลน์ 1,500,000 บาทต่อปี จึงคำนวณเงินเสียภาษีออกมาได้เท่ากับ 1,500,000 * 0.5% = 7,500 บาท นาย P ต้องเสียภาษี 7,500 บาทต่อปีนั่นเองครับ
เราสามารถคำนวณทั้ง 2 วิธีแล้วมาเปรียบเทียบกันก็ได้ครับ วิธีไหนเสียภาษีน้อยกว่าก็เลือกเสียภาษีโดยวิธีนั้นเท่านั้นเองครับ ผมแอบบอกนะครับว่าส่วนมากคนขายของออนไลน์เค้าก็เลือกแบบเหมากันนั่นแหละครับ
นี่แหละครับเมื่ออาชีพขายของออนไลน์สร้างรายได้ให้คุณเป็นกอบเป็นกำแล้ว ก็อย่าลืมนะครับว่าเมื่อเรามีรายได้เป็นของตนเองเเล้วการเสียภาษีให้ถูกต้องก็เป็นสิ่งที่พึงทำนะครับ แล้วก็อย่าลืมนำวิธีที่พวกนี้ไปคำนวณดูนะครับ จะได้วางแผนการยื่นภาษีตั้งแต่เนิ่น ๆ กันไปเลย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ในภายหลัง เราก็ควรทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน ข้อกำหนดต่าง ๆ แค่นี้ก็ขายของต่อได้อย่างสบายใจแล้วล่ะครับ
แอดมิน เมฆ