ไขข้อสงสัย KPI กับ OKRs ต่างกันอย่างไร ?
ไขข้อสงสัย KPI กับ OKRs ต่างกันอย่างไร ?
OKRs ที่หลาย ๆ บริษัทกำลังให้ความสนใจ เป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดจริงหรือไม่? แล้วเป็นเครื่องมือที่ใช้ประเมินผลที่บริษัทต่าง ๆ ใช้กันอย่าง KPI หรือเปล่า? จากนั้นก็เริ่มตั้งคำถามกันล่ะครับว่าสรุปตัวไหนได้ผลดีกว่ากัน? หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้ยิ่งคิ้วขมวดไปกันใหญ่ เพราะยังไม่ค่อยสนิทกับทั้ง 2 อย่างเลย งั้นวันนี้ ผมจะพาไปรู้จักกับ KPI และ OKRs ฉบับเข้าใจง่าย ว่ามันคืออะไร และมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร รวมถึงมันจะช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นได้อย่างไรกันครับ
KPI คืออะไร?
KPI ย่อมาจาก Key Performance Indicator เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหรือความก้าวหน้า เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการขององค์กร หรือแม้แต่ประเมินการทำงานของตัวบุคคลว่ามีศักยภาพเพียงใด โดยเทียบผลการทำงานกับมาตรฐานหรือเป้าหมายที่ได้ตกลงกันไว้ ซึ่งถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือมากครับ เพราะผลที่ออกมาจะอยู่ในรูปของตัวเลขหรือเป็นรูปธรรมที่เห็นได้ชัดและสามารถอ้างอิงได้ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าเจ้า KPI ตัวนี้เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจ เพราะหากประสิทธิภาพในการทำงานมีมาก หรือมีเท่ากับเกณฑ์เป้าหมายที่กำหนดไว้ก็แสดงว่าการทำงานนั้นประสบความสำเร็จบรรลุผลครับ
OKRs คืออะไร?
OKRs ย่อมาจาก Objectives and Key Results เป็นวิธีการตั้งเป้าหมายไปสู่ความสำเร็จขององค์กร โดยมีวัตถุประสงค์หลัก (Objectives) ที่จะมีความสอดคล้องกันในทุก ๆ ระดับในองค์กร ตั้งแต่ระดับผู้บริหารไปจนถึงระดับพนักงาน โดยที่ผู้บริหารระดับสูงจะตั้ง OKRs ระดับองค์กรขึ้นมาก่อน จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้บุคลากรในระดับต่าง ๆ รวมถึงพนักงาน ตั้ง OKRs ทั้งของตนเองและหน่วยงานตนเอง ที่สอดคล้องกับ OKRs ของทั้งองค์กร เป็นระบบที่แสดงให้เห็นถึง Teamwork เพราะทุกฝ่ายประสานงานกัน เพื่อไปบรรลุเป้าหมาย และมีผลลัพธ์หลัก (Key Results) คือการกำหนดตัววัดผลที่เป็นวิธีการที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ โดยจะต้องปฏิบัติไปในทางเดียว เพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
OKR ต่างจาก KPI อย่างไร?
คำถามสำคัญที่คนส่วนใหญ่มักสงสัย คือ KPI กับ OKRs มีความแตกต่างกันอย่างไร ผมขอสรุปความต่างที่เห็นได้ชัดตามนี้ครับ
KPI
- เป้าหมายของตัวชี้วัดถูกตั้งขึ้นโดยองค์กรเป็นหลัก
- ตัวชี้วัดมักจะไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง เมื่อตกลงกันแล้วจะคงระบบเดิมไว้
- มีผลโดยตรงต่อผลตอบแทนที่พนักงานได้รับ หรือที่เราเรียกว่า Compensation KPI
- สามารถควบคุมผลลัพธ์ได้ทั้งหมด เพราะจะเป็นตัวชี้วัดที่มีผลเป็นตัวเลขที่ชัดเจน
- KPI มักจะไม่ค่อยมีการทำงานประสานกัน มักจะเน้นแต่เฉพาะ KPIs ของตัวเอง
- การออกแบบจะเน้นในรูปแบบของ Top-Down เป็นหลัก คือผู้บริหารระดับสูงจะออกแบบตัววัดระดับองค์กร จนไปถึงระดับพนักงานด้วยตนเอง
OKRs
- พนักงานมีส่วนร่วมหรือเป็นคนตั้งเป้าหมาย OKRs ขององค์กร
- ท้าทายระบบการทำงานแบบเดิม และสามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลาจึงทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่า
- ไม่มีผลต่อผลตอบแทนของพนักงานในแต่ละบุคคล
- ทีมสามารถควบคุมผลลัพธ์ของ OKR ได้เพียงบางส่วน เพราะเป็นการตั้งเป้าหมายให้สูงไว้ก่อน
- OKRs จะทำให้เกิด Teamwork มากกว่า ทุกฝ่ายร่วมมือกันทำงาน
- การออกแบบจะเป็นรูปแบบผสมระหว่าง Top-Down กับ Bottom-Up ผู้บริหารระดับสูงจะตั้ง OKRs ระดับองค์กรขึ้นมาก่อน จากนั้นเปิดโอกาสให้ผู้บุคลากรในระดับต่าง ๆ รวมถึงพนักงาน ตั้ง OKRs ที่สอดคล้องกันทั้งองค์กร
สรุปจุดเด่นของ KPI และ OKRs
อ่านมาถึงตรงนี้คงจะพอเห็นภาพกันแล้วใช่ไหมว่า KPI และ OKRs เหมือน และต่างกันอย่างไร กล่าวโดยสรุปก็คือ ทั้งสองตัวมีหน้าที่ในการวัดผลของการทำงานเหมือนกัน แต่KPI เป็นการกำหนดเป้าหมายจากผู้บริหารมาสู่พนักงานในลักษณะ top down แต่มีข้อดีตรงที่สามารถวัดผลได้อย่างชัดเจนและผลออกมาเป็นตัวเลขซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบ คำนวณต่อได้ง่าย ซึ่งแตกต่างจาก OKRs ที่มีความหลากหลายและเปิดโอกาสให้พนักงานมีส่วนร่วมในการกำหนดแลกเปลี่ยนเป้าหมาย ในลักษณะ two way ซึ่งตรงจุดนี้ถือว่าได้เปรียบเพราะผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับตัวงานมากกว่า ย่อมมองเห็นปัญหา ทราบปัญหาที่แท้จริงขององค์กร และตั้งเป้าหมายเพื่อไปเติมเต็มจุดบอด หรือสิ่งที่ยังขาดไปขององค์กร เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจุดเด่นเหล่านี้ไปโดนใจหลายองค์กรระดับโลก เช่น Google, Twitter, Intel, Uber หรือผู้ให้บริการเครือข่ายใหญ่ ๆ อย่าง AIS และ DTAC ให้เลือกใช้ OKRs ด้วยเหมือนกันครับ
การวัดผลหรือการประเมินผลในการทำงานนั้น ส่งผลดีต่อองค์กรมามากมายนับไม่ถ้วน องค์กรควรวัดประสิทธิภาพของการทำงาน หรือผลลัพธ์ที่ได้ เพื่อการวางแผนกลยุทธ์หรือแนวทาง.ในการทำงานต่อไป ซึ่งนอกจากจะมีประโยชน์กับบริษัทที่ได้วัดความสามารถของพนักงานแล้ว พนักงานเองก็ยังได้เห็นภาพรวมการทำงานที่ผ่านมา แล้วหาจุดที่จะต้องปรับปรุงแก้ไขตัวเองให้ดีขึ้นอีกด้วยครับ