“SME ไทยทำอย่างไรให้ธุรกิจอยู่รอดในช่วงวิกฤต COVID-19”
“SME ไทยทำอย่างไรให้อยู่รอดในวิกฤต COVID-19”
แน่นอนครับว่างานนี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจรายใหญ่ รายย่อย ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจการขนส่ง การค้าปลีก ภาคการอุปโภค การบริโภค ธุรกิจภาคบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว แต่ธุรกิจที่โดนผลกระทบหนักที่สุดคงหนีไม่พ้น กลุ่มธุรกิจ SMEs ที่เงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่ากลุ่มธุรกิจอื่น ๆ และยังเป็นธุรกิจที่มีอัตราการส่งออกไปจีน ประเทศที่มีวิกฤต COVID-19 หนักจนต้องปิดประเทศไปถึงร้อยละ 13 ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องหยุดชะงัก สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่านี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย ดังนั้น หากผู้ประกอบ ไม่เตรียมตั้งรับให้ดีพอก็อาจจะไม่สามารถยืนหยัดได้ในวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตไวรัสโคโรน่านี้ครับ
อย่างไรก็ตามในวิกฤตก็ยังพอมีโอกาสอยู่ครับ หากผู้ประกอบการ SMEs กำลังมองหาแนวทางปรับเปลี่ยนจากการขายเดิม ๆ ที่ทำอยู่ หรือคิดหาช่องทางในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ก็ลองอ่านแนวทางเหล่านี้ และนำไปปรับใช้ดู อาจเป็นอีกทางที่ช่วยได้ไม่น้อยครับ
1. รัดเข็มขัด ควบคุมค่าใช้จ่ายให้ดี หรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการเงิน
ผู้ประกอบการต้องตัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกครับ แม้ว่าจะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ทำให้ยอดขายลดลง แต่ผู้ประกอบการต้องพยายามประคองตัวเลขในบัญชีเอาไว้ เพราะการมีเงินสดไว้ในมือในสภาวะเเบบนี้อุ่นใจกว่า อาจจะต้องลดพนักงานลง หรือ เน้นระบายของค้างสต็อก ยอมตัดขาดทุนบางรายการเพื่อเรียกเงินสดกลับมาครับ เพราะการลงทุนใหม่ ๆ อาจยังไม่ใช่คำตอบของการอยู่รอดในยุคที่เศรษฐกิจซบเซาด้วยปัญหาไวรัสแบบนี้ครับ อีกหนึ่งทางคือ ลดต้นทุน จากเดิมที่เคยลงทุนมาก ก็ลงทุนให้น้อยลง และต้องเเบ่งเงินไว้ครับ ดูความต้องการของตลาดให้มาก เพราะช่วงที่การค้าขายฝืดเคือง หรือสินค้าของเราไม่เป็นที่ต้องการของตลาด การฝืนขายไปก็ขาดทุนเปล่า ๆ ครับ ที่สำคัญที่สุดคือผู้ประกอบการควรวิเคราะห์ถึงปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจตนเองครับ เรียกว่าใช้วิกฤตนี้พัก เพื่อหันกลับมามองดูตัวเองครับว่าที่ผ่านมา เราพลาดหรือมองข้ามอะไรไปครับ แก้ไขมันแล้วค่อยกลับไปสู้ใหม่ครับ
2. การรักษาฐานลูกค้าเดิม
เพราะการหาลูกค้าใหม่นั้นยากกว่าการขายสินค้าให้กับลูกค้าเก่าครับ ดังนั้นช่วงนี้ผู้ขายต้องรักษาลูกค้าเดิมไว้ให้เเน่นครับ นอกจากจะขายสินค้าเดิมให้เเล้วการพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อลูกค้าเก่า ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชื่อใจ ไว้ใจกัน ไม่ต้องมาเริ่มทำความรู้จักกันใหม่ก็เป็นวิธีที่น่าสนใจ อาจทำได้โดย การศึกษาปัญหา ดูฟีดแบค พูดคุยกับลูกค้า หมั่นมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า ไม่เช่นนั้นจะเป็นเพียงแค่การขายครั้งเดียวแล้วจบไป ลองมอบสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น ส่วนลด โปรโมชั่นพิเศษสำหรับลูกค้าเก่า เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าเขาเป็นคนพิเศษของเรา จะช่วยสร้างความประทับใจและช่วยสร้าง Brand Loyalty ได้เป็นอย่างดีเลยครับ นอกจากนั้นเราควรศึกษาว่าตัวสินค้าหรือระหว่างการบริการของเรานั้นมีปัญหา มีจุดไหนที่บกพร่อง หรือมีตรงไหนที่ยังไม่ถูกใจลูกค้าบ้าง และลองปรับปรุงแก้ไขดีไม่ดีลูกค้าเองนี่แหล่ะครับที่จะเป็นคนพาลูกค้าใหม่มาหาเรา
3. หาช่องทางในการหารายได้เสริม
ทำธุรกิจที่มีอยู่แล้ว จังหวะนี้อาจจะไม่พอ ดังนั้นหากผู้ประกอบการ SME คนไหนที่มีความสามารถพิเศษ หรือสิ่งที่สนใจ ก็สามารถหารายได้เสริมจากตรงนั้นได้ครับ วิธีนี้เป็นการกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจของคุณครับ เพราะเมื่อรายได้จากธุรกิจหลักลดลง แต่ภาระค่าใช้จ่ายไม่ลดลงตาม ดังนั้นการรับจ๊อบพิเศษก็เป็นอีกหนึ่งทางรอด โดยเฉพาะงานที่สามารถทำออนไลน์ได้ จะได้ไม่ต้องออกไปเสี่ยงกับไวรัสด้วยครับ
4. สร้าง Online Asset
ถึงแม้จะเป็นช่วงวิกฤต แต่เราต้องไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยไปครับ ใช้เวลาที่ธุรกิจกำลังชะลอตัว เอาไปลงทุนกับการสร้างมูลค่าทางอินเตอร์เน็ตกันครับ ไม่ใช่แค่การทำเงินเท่านั้นนะครับ แต่อาจจะเป็น มูลค่าของผู้ติดตาม เพราะการมีชื่อเสียง หรือฐานแฟนคลับในโลกออนไลน์เป็นการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจครับ หรืออาจสร้าง Content Asset เพื่อดึงดูดลูกค้า หรือให้ข้อมูลความรู้อย่างอื่นนอกจากการขายสินค้า เพรายิ่งสื่อสารมาก และยิ่งสื่อสารได้แตกต่างแปลกใหม่ ยิ่งดึงดูดผู้คนมาก และจะมีกลุ่มคน แบบ Organic เข้ามารู้จักเเบรนด์มากขึ้นด้วยครับ
5. มองหาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกลุ่มลูกค้าใหม่
เป็นเหมือนการสร้างฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้นครับ ซึ่งอาจจะฟังดูยากในช่วงวิกฤตนี้ แต่ก็ยังพอมีวิธีทำได้ สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำเลยคือการสร้าง First Impression ครับ การสื่อสารที่จริงใจ และการเห็นอกเห็นใจผู้บริโภคก็ทำให้ภาพลักษณ์และความสัมพันธ์ของแบรนด์กับผู้ซื้อเป็นไปในทางที่ดีครับ ยิ่งในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ และไวรัสแบบนี้เเล้วนั้น แทนที่จะฉกฉวยโอกาส ก็ควรจะพึ่งพาอาศัยกันเเละกัน อีกวิธีหนึ่งที่สามารถทำได้ก็จะเป็นการลองหันกลับมามองลูกค้าที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายแรกของเราดูครับ ลองศึกษาว่าแท้จริงแล้วลูกค้ากลุ่มนั้น ๆ ต้องการอะไร มีอะไรที่ตอบสนองความต้องการของเขาได้บ้าง ลองปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าดูครับ ปรับให้สินค้าหรือบริการของเราอยู่ในราคาที่จับต้องได้มากขึ้น
6. เปลี่ยนจากทำธุรกิจแบบเชิงรับเป็นธุรกิจแบบเชิงรุก
ชั่วโมงนี้ผู้ประกอบการต้องเลือกแล้วล่ะครับ ว่าจะสู้หรือจะถอย ยิ่งในช่วงเศรษฐกิจถดถอยแบบนี้ ถ้าเราปล่อยให้จิตใจเราเสื่อมโทรมลงไปด้วยแล้วก็จะทำให้เรา ยิ่งหดหู่ หมดแรงสู้ครับ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องตั้งสติ และคิดที่จะปรับเปลี่ยนแนวทางการทำธุรกิจอยู่เสมอ จากการทำธุรกิจเเบบเดิม ๆ เป็นการทำธุรกิจที่ Proactive พร้อมเข้าหาลูกค้า พราะการทำการตลาดเชิงรุกนั้นก็หมายถึง การเล็งเห็นจุดแข็ง และจุดอ่อนของตนเองและคู่แข่งครับ ที่สำคัญคือเราต้องหาช่องโหว่ หรือโอกาสให้ธุรกิจเราอยู่เสมอ
การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อมาอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า ถือเป็นการสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางการขายโดยเน้นไปที่ช่องทาง Online ถือว่าเป็นหนทางที่ดี เราต้องปรับตัวให้ทันทุกสถานการณ์เพื่อสร้างโอกาสและรายได้ให้กับธุรกิจ เพราะพฤติกรรมลูกค้านั้นก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยและเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่นกัน อย่าให้ธุรกิจเราอ่อนแอเพราะ COVID-19 กันเลยครับ
แม้จะเป็นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ แต่ถ้าผู้ประกอบการมีสติ และเตรียมพร้อมรับมืออยู่เสมอ หรือลองเปลี่ยนแนวคิด มุมมอง นี่อาจเป็นโอกาสดีที่ทำให้เราเห็นจุดด้อยที่ต้องปรับปรุง และได้มองหาตลาดใหม่ๆ ให้กับธุรกิจของเราครับ :-)